จำนวนผู้เข้าชม: 1,367 วันที่ 26/03/2020
สารพัดช่างฉะเชิงเทราระดมทีมผลิตอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบให้ ร.พ.วชิระ
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563
ณ ห้องประชุมอาคารสีฟ้า วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา นายสุริยะ จิตรพิไลเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา เป็นประธานในการแถลงข่าว การผลิตถุงสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ(Negative pressure) นายสุริยะ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 ที่ก่อนหน้านี้แพร่ระบาดหนักในประเทศจีน และต่อมาได้แพร่ระบาดไปในอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม 2563 ไทยพบผู้ติดเชื้อ 721 ราย และเสียชีวิตแล้ว 2 ราย ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตของนักเรียน นักศึกษา ที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้มีนโยบายประกาศให้ทุกสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ปิดเรียนด้วยกรณีพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ขานรับต่อนโยบายดังกล่าว และเร่งสร้างมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ตั้งแต่เริ่มมีกระแสข่าว ต่อมาตนเอง ได้รับการประสานงานผ่านทางผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนสมุทรปราการ ในการหาทีมงานช่วยผลิตอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ ให้กับทางโรงพยาบาลวชิระ โดยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ได้เดินทางเข้าหารือร่วมกับ ผศ.นพ.อนุแสง จิตสมเกษม รองคณะบดีคณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งในขณะนั้น ทีมแพทย์ได้ทำการสาธิตการใช้ถุงคลุมผู้ป่วย ซึ่งเป็นต้นแบบ (Prototype) ให้ทางทีมงานดู และพบว่ามีปัญหาในส่วนของ
1) วัสดุที่ใช้ทำถุงคลุมผู้ป่วยไม่ทนทาน ฉีกขาดง่าย
2) อุปกรณ์ยึดติด (ตีนตุ๊กแก) ติดไม่สะดวก
3) แรงดูดอากาศสูงเกินไป จนเกิดสุญญากาศ
4) ไม่มีช่องสำหรับให้บริการทางการแพทย์
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวคณะทำงาน ซึ่งนำโดย นายชำนาญ แสงทอง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา จึงได้ทำการศึกษาและหาแนวทางแก้ไข พร้อมกับพัฒนารูปแบบใหม่โดยแบ่งหน้าที่การทำงาน ดังนี้
1. อ.นรเศรษฐ์ ศิริไปล์ และ อ.จรวย วิหกเหิน ได้ออกแบบขนาด และกระบวนการเย็บ ตลอดจนประสานงาน Supplier จัดหาวัสดุที่ใช้ในการตัดเย็บ
2. อ.สมหมาย ยินดีภพ ครูแผนกผ้าและเครื่องแต่งกาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเย็บประสานงานและควบคุมการตัดเย็บ
3. อ.ปรารถ โกศล และ อ.พิสิษฐ์ ใจอารีย์ ตลอดจนครูแผนกช่างยนต์ พัฒนาเครื่องดูดอากาศแบบแรงดันลบ
4. อ.อนุสรณ์ แสงดาว แผนกเทคนิคพื้นฐาน ออกแบบและประสานงานการเชื่อมเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
ตลอดจนคณะครู เจ้าหน้าที่วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา ทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการประสานงานด้านต่าง ๆ จนได้รูปแบบ Prototype ของวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา และนำกลับไปทดสอบกับ ทีมแพทย์ ในวันที่ 9 มีนาคม 2563
และเมื่อ 17 มีนาคม 2563 ทางคณะแพทย์ได้จัดงานแถลง และขอความอนุเคราะห์ให้วิทยาลัยฯ เร่งผลิตถุงคลุมผู้ป่วยแบบแรงดันลบ จำนวน 40 ถุง โดยได้รับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ ซึ่งได้แก่ ผ้าใบชนิด HDPE แถบกุ๊น ซิป จากทางกลุ่มจิตอาสา และถุงมือ จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมา วิทยาลัยฯ ได้พัฒนารูปแบบเพื่อให้เป็นของ อาชีวะ โดย วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา พัฒนาเป็นอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ Negative pressure ซึ่งชุดดูดอากาศจะมีตัวกรอง 3 ชั้น ด้านบนติดด้วยหลอดไฟ UV กั้นด้วยกระจก ตัวกรองสามารถถอดเปลี่ยนได้ พัดลมระบายอากาศแบบมอเตอร์ขนาด ? แรง ซึ่งขณะนี้ คณะครูวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรากำลังเร่งพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าว และในขณะนี้ กำลังจะผลิตหมวกกันละอองฝอยเพื่อให้ทันต่อการใช้งาน โดยในระยะเริ่มต้น จะทำเพื่อให้บริการให้กับโรงพยาบาลที่มีความต้องการเร่งด่วน และพัฒนาสู่การจัดจำหน่ายต่อไป