พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การพัฒนาองค์ความรู้ด้านบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการสร้างการเรียนรู้ของชุมชน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และ มูลนิธินโยบายสาธารณะไทย และมอบนโยบายของรัฐบาลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมด้วยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายโชติ โสภณพนิช ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ณ ห้องราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ในความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานที่มุ่งมั่นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความมั่นคง และเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ซึ่งการร่วมลงนามในวันนี้นับว่าเป็นการยกระดับความเข้มแข็งของการดำเนินงานร่วมกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์ที่สนับสนุนแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจากการร่วมลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในครั้งนี้
ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเน้นย้ำถึงเจตนารมย์ของรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่สำคัญของชาติ โดยปัจจุบันมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติทำหน้าที่ในการบูรณาการ และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีเอกภาพ อย่างไรก็ตามจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยจะต้องพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการที่จะร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมพัฒนา และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าเพื่อประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนต่อไป
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นอีกก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในภารกิจและแผนการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่จะสร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับประเทศชาติ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ การบูรณาการสร้างการเรียนรู้ของชุมชน ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการสร้างศักยภาพ การผลิตชลกรและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ท้องถิ่นและสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เกิดขึ้นด้วยปณิธาน 1.ต้องการจะสืบสานแนวพระราชดำริ ช่วยเกษตรกรให้มีน้ำใช้ แก้จน แก้น้ำล้น พ้นภัยแล้ง 2.ต้องการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ วางรากฐาน “น้ำเพื่อการเกษตร” 3.ต้องการสร้างหลักสูตร “ชลกร” เพื่อให้สถานศึกษาเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ 4.ต้องการสร้าง Smart Farmer โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม มายกระดับการทำการเกษตร และ 5.ต้องการที่จะยกระดับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำสู่มาตรฐานสากล
สำหรับวัตถุประสงค์หลักของความร่วมมือในครั้งนี้ก็เพื่อบูรณาการความร่วมมือ สนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการสร้างการเรียนรู้ของชุมชน แก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการสร้างศักยภาพ การผลิตชลกรและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ท้องถิ่นและสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นการยกระดับองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำไปสู่ระดับสากล
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่าสอศ. ได้รับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ดำเนินการเปิดหลักสูตรนักบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร หรือ ชลกร ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี นำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร และ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ จัดการเรียนการสอนการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติ โดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม บูรณาการกับวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา มีความรู้ ด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยหลักสูตรชลกร รุ่นที่ 1 ระดับ ปวส. ในภาคการศึกษา 2564 มีนักเรียนสมัครเข้าเรียนเต็มจำนวนที่แต่ละวิทยาลัยรองรับได้ และนักเรียนทุกคนได้รับทุนการศึกษาเรียนฟรีตลอดหลักสูตร 2 ปี จาก มูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ซึ่งหลักสูตรบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ภายใต้สาขาวิชาช่างกลเกษตร ได้รับการพัฒนาองค์ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการน้ำในระดับสากล และในปี 2565 มีวิทยาลัยที่เข้าร่วมจัดการเรียนการสอนหลักสูตรชลกร รุ่นที่ 2 เพิ่มอีก 7 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว และ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย รวมเป็น 12 แห่ง เพื่อรองรับผู้เรียนได้เพิ่มขึ้น โดยภารกิจภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ สอศ. มีแผนดำเนินการขยายผล หลักสูตรนักบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร หรือ "ชลกร" สู่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยจะนำองค์ความรู้ที่ได้มานำไปปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ตลอดจนการฝึกอบรมระยะสั้น รวมทั้งการพัฒนาครูผู้สอนโดยการอบรม Train the Trainers หลักการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน เพื่อส่งเสริมและบูรณาการความรู้ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ โดยมีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสังกัด สอศ. เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนของแต่ละพื้นที่ อันจะเป็นการสร้างบุคลากรในการบริหารจัดการน้ำให้สามารประกอบอาชีพและดูแลชุมชนของตัวเองได้อย่างดียิ่งขึ้นต่อไป
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีความพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ตามที่ได้ตั้งไว้ การลงนามบันทึกความเข้าใจการพัฒนาองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการสร้างการเรียนรู้ชุมชนในครั้งนี้จึงเป็นการยกระดับการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาการบริหารจัดการทรัยากรน้ำอย่างยั่งยืน เกิดผลสัมฤทธิ์ คือ ประโยชน์สุขของประชาชน
นายโชติ โสภณพนิช ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย กล่าวว่า มูลนิธินโยบายสาธารณะไทย เล็งเห็นความสำคัญของโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ มาตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนของคนในชาติได้อย่างยั่งยืน และต้องการสนับสนุนความตั้งใจของดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการขับเคลื่อนงานโดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาเพื่อให้สามารถนำมาต่อยอดและขยายผลสู่คนรุ่นต่อไปได้ โดยยังยืนยันเจตนารมณ์ของมูลนิธิโยบายสาธารณะไทยที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังที่โครงการฯ ตั้งเป้าหมายไว้ ในการสร้างประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำต่อสังคมโดยรวม