การจัดทำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง มาตรฐานการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา พ.ศ. ....... ครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.นิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ ดร.สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว และนางปัทมา วีระวานิช ที่ปรึกษาการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา มาบรรยายให้ความรู้ และให้คำแนะนำในการจัดทำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง มาตรฐานการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา พ.ศ. ....... ครั้งนี้ ให้กับผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา จากศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาค จำนวน 10 แห่ง รวมทั้งสิ้น 45 คน ได้แก่
1.) ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคกลาง 1 ณ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล
2.) ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคกลาง 2 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างบรรหาร – แจ่มใส
3.) ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคเหนือ 1 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก
4.) ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคเหนือ 2 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่
5.) ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคใต้ 1 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างนครศรีธรรมราช
6.) ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคใต้ 2 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี
7.) ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานี
8.) ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์
9.) ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร 1 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง
10.) ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร 2 ณ วิทยาลัยเทคนิคบางแสน
สำหรับ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง มาตรฐานการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา พ.ศ. ...... มีรายละเอียดสำคัญ ๆ อาทิ
1.) คุณภาพผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษา กำหนดให้ผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษา เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแต่ละระดับและสอดคล้องกับแผนจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ให้สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นหรือเข้าสู่ระบบการทำงาน หรือประกอบอาชีพอิสระ
2.) จัดหลักสูตร ตามประเภทวิชาและสาขาวิชา ที่เหมาะสมกับประเภทและระดับความพิการของผู้เรียนพิการ โดยจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล ให้ยึดผู้เรียนพิการเป็นหลักในพัฒนากระบวนการเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติ รวมทั้งการประเมินผลตามสภาพจริง โดยให้เป็นไปตามพัฒนาการของผู้เรียนพิการเป็นสำคัญ
3.) จัดสภาพแวดล้อม ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ระบบสนับสนุนการเรียนการสอน สื่อ เทคโนโลยี ครุภัณฑ์ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก และบริการอื่นใดทางการอาชีวศึกษา ที่สอดคล้องกับการเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติของผู้เรียนพิการ
4.) การฝึกงาน/ฝึกอาชีพ ให้สถานศึกษาร่วมกับสถานประกอบการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี และมีความเหมาะสมกับความพิการของผู้เรียน
5.) จัดหาครูการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ที่มีความเหมาะสมกับการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนพิการ ตามหลักสูตร ประเภทวิชาและสาขาวิชา เป็นการเฉพาะในกรณีทีมีความจำเป็น โดยต้องพัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุน ครูการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาให้ได้รับการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และเจตคติเพื่อให้มีศักยภาพในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนพิการแต่ละประเภท
6.) พัฒนาระบบความร่วมมือในการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา โดยเตรียมความพร้อมของผู้เรียนพิการก่อนเข้าเรียน ระหว่างเรียน ตลอดจนเมื่อสำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษา และส่งเสริมการมีงานทำ
7.) พัฒนาการเรียนรู้ผู้เรียนพิการให้มีสมรรถนะทางวิชาชีพและการดำรงชีวิต รวมทั้งการบ่มเพาะผู้เรียนพิการสู่การเป็นผู้ประกอบการในระหว่างเรียนและเมื่อสำเร็จการศึกษา
โดย (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง มาตรฐานการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา พ.ศ. ..... ศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา (ศพอ.) จะดำเนินการ นำร่างมาตรฐานฯ ส่งให้สถานศึกษาภาครัฐ เอกชน ประชาพิจารณ์แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะ ก่อนเสนอต่อคณะอนุกรรมการการอาชีวศึกษาด้านหลักสูตรฯ คณะกรรมการการอาชีวศึกษาด้านกฎหมายฯ และเสนอคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตามลำดับต่อไป